วันจันทร์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

เทคนิคการจัดองค์ประกอบภาพของช่างภาพมืออาชีพ


เรียนรู้การจัดองค์ประกอบภาพแบบต่างๆ เพื่อพัฒนาผลงานภาพถ่ายของคุณ



หลังจากที่ได้เรียนรู้เทคนิคพื้นฐาน เช่น การจัดองค์ประกอบภาพตามกฎสามส่วนและแบบกึ่งกลาง เรามาลองทำอะไรที่ท้าทายยิ่งขึ้นด้วยเทคนิคการจัดองค์ประกอบภาพแบบอื่นๆ ซึ่งเป็นเทคนิคของมืออาชีพ เทคนิคการจัดองค์ประกอบภาพที่ผมจะแนะนำต่อไปนี้ไม่ใช่แค่การแยกกรอบภาพเป็นสองหรือสามส่วน แต่เป็นเทคนิคที่ต้องพิจารณาตำแหน่งของตัวแบบในภาพ ความสัมพันธ์ใกล้ชิดระหว่างตัวแบบหลักและตัวแบบรอง รวมทั้งมุมมองของคนดู การใช้เทคนิคเหล่านี้จะช่วยเพิ่มคุณภาพให้กับผลงานของคุณอย่างมาก เริ่มจากการจดจำขั้นตอนทีละข้อ ตามด้วยการผสมผสานรูปแบบการจัดองค์ประกอบแบบต่างๆ เพื่อให้ได้ภาพที่ตรงกับความตั้งใจของคุณยิ่งขึ้น เรามาเริ่มด้วยการดูในส่วนของเทคนิคการจัดองค์ประกอบแต่ละแบบกัน




ใช้สายน้ำหรือถนนเพื่อดึงความสนใจของคนดู

เส้นนำสายตา






องค์ประกอบตามเส้นแนวทแยงมุมใช้เพื่อจัดองค์ประกอบในภาพถ่ายโดยยึดตามแนวเส้นทแยงมุม ตัวอย่างเช่น คุณอาจใช้เส้นทแยงมุมที่เกิดจากแนวลาดเอียงของภูเขา แม่น้ำลำธาร หรือขอบถนน เพื่อเน้นมุมเปอร์สเป็คทีฟของภาพ ซึ่งจะช่วยให้รู้สึกถึงความเคลื่อนไหว รวมถึงมิติความลึกของภาพที่เด่นชัดขึ้น วิธีง่ายๆ ในการสร้างองค์ประกอบภาพตามแนวเส้นทแยงมุมคือ การถ่ายภาพน้ำตกหรือบันไดจากด้านข้าง เพื่อให้ส่วนที่ลดหลั่นลงมานั้นเห็นได้ชัดเจนขึ้น อีกเทคนิคหนึ่งคือ การใช้เส้นทแยงมุมตัดกันสองเส้นทำให้เกิดแนวรูปตัว “X” เพื่อรวมความสนใจของภาพไปที่จุดตัด อย่างไรก็ตาม พึงระลึกว่า การใช้เส้นทแยงมุมแบบจงใจเกินไปก็อาจทำให้องค์ประกอบภาพดูไร้มิติได้ กลายเป็นการแบ่งภาพให้เป็นสองส่วนเท่านั้น
การใช้ทางรถไฟเพื่อดึงความสนใจของคนดูไปที่รถไฟ












การจัดองค์ประกอบภาพเช่นนี้ให้ความสำคัญไปที่รถไฟซึ่งออกมาจากอุโมงค์ ในภาพตัวอย่างทางซ้าย อุโมงค์อยู่ในตำแหน่งที่ค่อนข้างต่ำจากส่วนบนของภาพ ทำให้ดึงจุดสนใจไปที่พุ่มไม้ที่ผลัดใบบนภูเขาเหนืออุโมงค์ ในทางกลับกัน เมื่อวางตำแหน่งอุโมงค์ไว้ที่ส่วนบนอย่างในภาพทางขวา ทางรถไฟที่ทอดยาวสามารถดึงสายตาของคนดูไปที่อุโมงค์อย่างได้ผล
เลือกทางโค้งของถนนในไร่เพื่อดึงความสนใจของคนดูไปที่บ้านหลังน้อย












องค์ประกอบภาพในที่นี้มีบ้านหลังคามุงจากซึ่งตั้งอยู่หลังทุ่งนาเป็นจุดสนใจ ภาพทางซ้ายเป็นองค์ประกอบที่มีความเปรียบต่างแบบเดิมๆ โดยที่มีบ้านหลังน้อยอยู่ที่ปลายนา แต่ในภาพทางขวา เป็นการถ่ายภาพถนนในไร่ซึ่งทำหน้าที่สื่อความมุ่งหมายของช่างภาพ โดยใช้ทางโค้งนำสายตาของคนดูจากถนนผ่านทุ่งนาไปยังบ้าน






องค์ประกอบของจังหวะที่ไม่คาดคิดจากมุมมองที่แตกต่าง

จังหวะที่ไม่คาดคิด










เพื่อสร้างความรู้สึกของจังหวะที่ไม่คาดคิดในองค์ประกอบภาพ ให้เปลี่ยนมุมของเลนส์และตำแหน่งกล้องที่จะเล็งไปยังตัวแบบเพื่อถ่ายภาพจากมุมที่แตกต่าง ขอแนะนำเทคนิคนี้เป็นพิเศษสำหรับคนที่มักลงเอยด้วยองค์ประกอบภาพที่ราบเรียบน่าเบื่อ เช่น การถ่ายภาพตัวแบบในท่าสบายๆ หรือจากความสูงที่จำกัดด้วยขาตั้งกล้องที่ใช้ การเปลี่ยนมุมของเลนส์หรือกล้องย่อมให้องค์ประกอบภาพที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะเมื่อคุณใช้เลนส์มุมกว้าง การปรับความสูงหลายสิบเซนติเมตรอาจสร้างความแตกต่างอย่างมากในภาพถ่ายที่ออกมา ขณะเดียวกัน สำหรับภาพถ่ายโคล้สอัพตัวแบบ เช่น ดอกไม้ การขยับเพียง 2-3 เซนติเมตรก็ทำให้องค์ประกอบภาพแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง




ตัดองค์ประกอบส่วนเกินเพื่อเน้นตัวแบบหลัก

การตัดส่วนเกิน




เมื่อไหร่ก็ตามที่ถ่ายภาพด้วยความรีบร้อน หรือไม่ทันได้เช็คองค์ประกอบภาพผ่านช่องมองภาพ บ่อยครั้งสิ่งที่ไม่ต้องการมักจะปรากฏอยู่ในภาพด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณขอบภาพ และในกรณีที่ช่องมองภาพของกล้องครอบคลุมไม่ถึง 100% “การตัดส่วนเกิน” เป็นเทคนิคในการเอาส่วนประกอบที่ไม่ต้องการออกจากองค์ประกอบภาพ เริ่มจากการตรวจสอบภาพหลังถ่ายบนจอ LCD ด้านหลัง จากนั้น ตัดองค์ประกอบต่างๆ ออกจากองค์ประกอบภาพให้เป็นไปตามภาพที่คุณตั้งใจ แล้วจึงถ่ายภาพใหม่อีกครั้ง ฝึกฝนนิสัยการจัดองค์ประกอบภาพใหม่เช่นนี้เป็นประจำ
ขับเน้นตัวแบบหลักด้วยการจัดองค์ประกอบภาพแบบเรียบง่าย









ภาพถ่ายริมทะเลสาบที่ห้อมล้อมด้วยต้นไม้เขียวชอุ่ม ภาพทางซ้ายถ่ายทอดรายละเอียดของบรรยากาศแวดล้อมในบริเวณนั้นได้อย่างชัดเจน ขณะที่ในภาพทางขวา องค์ประกอบที่ไม่ต้องการถูกกำจัดออกไป ทำให้ได้องค์ประกอบภาพที่เน้นความสำคัญของต้นไม้ซึ่งเป็นตัวแบบหลักได้อย่างมีประสิทธิภาพ










ตัวอย่างทางซ้ายเป็นการจัดองค์ประกอบภาพแบบ “รักพี่เสียดายน้อง” คือ พยายามที่จะเก็บทุกอย่างที่มองเห็นจากจุดที่ถ่ายภาพ แต่การทำอย่างนั้นทำให้จุดประสงค์ของการถ่ายภาพคลุมเครือไม่ชัดเจน ในทางตรงกันข้าม เราจะมองเห็นความมุ่งหมายได้ชัดเจนในภาพทางขวาเมื่อตัดส่วนพื้นที่แบ็คกราวด์บางส่วนออกไป

ที่มา : snapshot

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น